ในการรณรงค์และส่งเสริมสุขภาพที่หน่วยงานทางราชการหลายแห่งกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มีเรื่องความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องที่ส่งเสริมกันอยู่ เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาอันได้แก่ โรคไตวาย(เรื้อรัง) , โรคหัวใจ(ขาดเลือด) , โรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อตรวจพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่ให้การรักษาก็จะนำเสนอวิธีต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดความดันโลหิตของตนได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนลดลงไป
แต่จากการสังเกตทั้งโดยตัวผมเองและแพทย์หลายท่านต่างพบเห็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือผู้ที่มารับการรักษายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงด้วยหลักทางแพทย์แผนปัจจุบัน โดยพบว่าส่วนมากผู้ป่วยไปเน้นหนักทางด้านการใช้ยามากจนเกินไป ทำให้ผลที่ได้ออกมาไม่บรรลุตามเป้า หลายครั้งผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจว่าทำไมแพทย์จึงยังไม่ปรับยาเพิ่มขึ้น หรือทำไม แพทย์จึงพยายามพูดจาน่ารำคาญซ้ำไปมาในเรื่องเดิมๆ
ก่อนอื่นเรามาดูกันครับว่าหลักการรักษาตามแบบแผนของการแพทย์แผนปัจจุบันมีอะไรบ้าง
3. รักษาที่ปลายเหตุ : สำหรับความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยรายใดที่มีระดับความดันโลหิตสูงมากจนอาจจะถึงระดับอันตราย หรือมีโรคแทรกซ้อนจากความดันแล้ว แพทย์ก็จะให้ ยาลดความดัน และ ยาตามอาการ/ยารักษาโรคแทรกซ้อนนั้น
2. รักษาที่ตัวโรค : เมื่อหลอดเลือดผิดปกติและเกิดความดันสูงขึ้น ร่างกายจะอยู่ในสภาพที่มีเกลือและน้ำคั่งมากเกินปกติ การรักษาที่ทำในช่วงนี้ก็คือการให้ยาเพื่อขับน้ำและเกลือออกจากร่างกาย ต้องลดเกลือที่บริโภคเข้าไปในร่างกาย และจะต้องลดสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ความดันโลหิตสูงไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า
1. รักษาที่ต้นเหตุ : เนื่องจากสาเหตุหลักของความดันสูงคือหลอดเลือดแดงแข็งตัว ดังนั้นการป้องกันความดันสูงก็คือการออกกำลังกายและการกินอาหารที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดไขมันและน้ำตาลสูงจนเกินไป และต้องลดสาเหตุอื่นๆที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า
ในการรักษาแผนปัจจุบัน ปกติแล้วแพทย์จะมุ่งเน้นการรักษาจากต้นเหตุเป็นสำคัญ ส่วนการรักษาที่ตัวโรคก็จะทำไปพร้อมกันเท่าที่จำเป็น ซึ่งในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่กว่าที่ผู้ป่วยจะเกิดความดันสูงหรืออาการก็ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี ดังนั้นการรักษาที่ต้นเหตุของโรคเพียงอย่างเดียวจึงนับได้ว่าไม่ทันการณ์ จึงต้องใช้การรักษาด้วยยาเข้ามาร่วมด้วย
การใช้ยาก็ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอ โดยหลักการรักษาความดันโลหิตสูงทั่วไป ถ้าความดันไม่ได้สูงมากแพทย์ก็จะเริ่มการรักษาด้วยการแนะนำการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่การลดการบริโภคเกลือ การเพิ่มการออกกำลังกาย การลดอาหารหวานมันเค็ม การหลีกเลี่ยงบุหรี่และเหล้า หากเริ่มไปแล้วระยะหนึ่งแล้วความดันยังไม่ลดลงแพทย์จึงจะเริ่มให้ยาลดความดันโลหิต
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อแพทย์ไม่เริ่มให้ยาลดความดัน บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไม?
สาเหตุหนึ่งเกิดจากว่า หากความดันยังไม่สูงมากนัก การรักษาด้วยการแก้ไขสาเหตุก็เพียงพอที่จะทำให้ความดันลดลงแถมยังเป็นการแก้ไขที่แน่นอนกว่า
นอกจากนี้ ยาลดความดันโลหิตทุกตัวยังมีผลข้างเคียง
1. Beta Blocker
ยากลุ่มนี้ลดความดันเลือดโดยการไปยับยั้งตัวรับสัญญาณทางระบบประสาทตัวหนึ่ง ซึ่งส่งผลทำให้ความดันเลือดโดยรวมลดลง ซึ่งตัวรับสัญญาณนี้ไม่ได้มีแค่ที่เส้นเลือดอย่างเดียว ดังนั้นผลที่ตามมาจึงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจจะไม่ต้องการได้เช่น หัวใจเต้นช้าลง(หลายคนเลยเอาไปใช้ในการแก้ตื่นเต้นก่อนการพูดหน้าที่ประชุม) เกิดอาการหอบหืดกำเริบได้ในผู้ป่วยหอบหืด หน้ามืดเวลายืน นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย อารมณ์ทางเพศลดลง ฯลฯ
2. Calcium Channel Blocker
ยากลุ่มนี้ยับยั้งการไหลของแคลเซี่ยมในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเส้นเลือดเพื่อลดความดันเลือด ซึ่งเช่นเดียว ผลข้างเคียงก็มี ได้แก่ อาการขาบวมตึง ร้อนวูบวาบตามใบหน้า ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว เหงือกบวมโต
3. ACE inhibitor
ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยก็คือ อาการไอ(ไอมากๆ) เวียนหัวมึนงง โปแตสเซี่ยมในเลือดสูง
4. Diuretics
ยากลุ่มนี้ลดความดันเลือดด้วยการขับน้ำและเกลือออกจากร่างกาย ดังนั้นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆก็คือ เกิดอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย(แพทย์จึงมักให้ตอนเช้าเพื่อจะได้ไม่ต้องตื่นเพื่อไปถ่ายปัสสาวะตอนกลางคืน) เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ตะคริว
เหล่านี้คือตัวอย่างยาลดความดันที่พบบ่อยครับ ยังมียาอีกหลายตัวนอกเหนือจากนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นยา ก็มีผลข้างเคียงอยู่แล้วทุกตัวครับ
คำถามที่พบบ่อย
- มียาแผนปัจจุบันที่ผลข้างเคียงน้อยหรือไม่
ยาลดความดันในปัจจุบันมีออกมาใหม่หลายตัวครับ แต่ทุกตัวล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงทุกตัวทั้งนั้น แต่จะมากน้อยก็แตกต่างกันไปตามการค้นคว้าวิจัย ... ที่สำคัญคือแพงครับ ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่ม ACE inhibitor ตัวสามัญที่ใช้กันคือ Enalapril เม็ด 5 มก. ทุนอาจจะไม่ถึงบาท แต่พอมาเป็นยา Valsartan ซึ่งมีอาการไอน้อยลง(ยา ARB ที่คุณสมบัติและข้อบ่งชี้คล้ายๆกับยาACE inhibitor) ราคาทุนกลับสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อเม็ด
หากเปลี่ยนยาเพียงเพื่อลดผลข้างเคียงลง โรงพยาบาลก็จะไม่มีเงินพอไปรักษาอย่างอื่นครับ
- ยาสมุนไพรลดความดันเลือดล่ะ
ปัญหาของเรื่องการใช้สมุนไพรก็คือ ความดันโลหิตสูงถูกนิยามด้วยการใช้เครื่องวัดความดันมาวัด ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่สมุนไพรจะมีตำราบอกว่ามีฤทธิ์รักษาความดันโลหิตสูงได้แต่โบราณ ... ดังนั้นสมุนไพรที่จะนำมาใช้จึงมักใช้ตัวที่มีงานวิจัยในภายหลังหรือมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ... ซึ่งถามว่าจะใช้ได้หรือไม่ก็น่าจะได้ครับ หากแต่ควรจะลองสอบถามแพทย์ผู้รักษาก่อนเพื่อดูว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีเป้าหมายในการรักษาที่ไม่เท่ากัน
ที่สำคัญ สมุนไพรเหล่านี้ก็คือสารเคมีบางชนิดเช่นกัน บางชนิดต้องระมัดระวังในการใช้ก่อนใช้ต้องศึกษาให้ดีก่อนครับ
- ถ้างั้นไม่กินยาลดความดันได้ไหม
หลายคนที่เห็นว่ายาลดความดันสูงมีผลข้างเคียงจึงไม่ยอมกิน ก็ต้องดูกันดีๆครับ เพราะว่าในการเลือกว่าจะกินหรือไม่กินยาต้องชั่งผลดีผลเสียก่อน ... ปกติแพทย์มักจะเลือกหนทางในการไม่ใช้ยาก่อน แต่เมื่อใดที่ผลจากความดันสูงน่ากลัวกว่าการใช้ยาไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมอง โรคไต ฯลฯ แพทย์ก็จะให้ยา ดังนั้นการหยุดยาเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมครับ
ดังนั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ต้องใช้ยาลดความดัน ก็จะมีวิธีการดังนี้ครับ
1. ลดของเค็มและไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาลงในอาหาร เนื่องจากโซเดียมถือเป็นส่วนที่ทำให้น้ำอยู่ในร่างกายและเพิ่มความดันโลหิตได้
2. เพิ่มสัดส่วนอาหารจำพวกผักผลไม้ และลดอาหารจำพวกไขมันลง
3. หยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้ความดันสูงและเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่นๆมากมายมหาศาล
4. ลดการดื่มสุรา (หยุดได้ก็ดีครับ) เพราะการดื่มสุราแบบไทยๆ ก็ไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเช่นกัน
5. ออกกำลังกายครับ ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง วันละ 30-60 นาที ช่วยลดความดันได้ทั้งนั้น
อ้างอิง
1. CMAJ. 1999 May 4;160(9 Suppl):S21-8. Lifestyle modifications to prevent and control hypertension.
2. N Engl J Med. 1997 Apr 17;336(16):1117-24.A clinical trial of the effects of dietary patterns on blood pressure. DASH Collaborative Research Group.
No comments:
Post a Comment